วันอาทิตย์, 24 พฤศจิกายน 2567

การฉีดฮอร์โมนสังเคราะห์ พ่อแม่พันธุ์ปลาช่อน | สวก.

การฉีดฮอร์โมนสังเคราะห์ พ่อแม่พันธุ์ปลาช่อน | สวก.
หลังจากการเตรียมพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่มีลักษณะดีแล้ว หัวใจสำคัญของการเพาะพันธุ์ลูกปลาช่อน คือการฉีดฮอร์โมนสังเคราะห์ให้กับพ่อแม่พันธุ์ปลาที่เตรียมไว้ โดยการฉีดฮอร์โมนทำเพื่อเร่งให้ปลาตกไข่ และผลิตลูกพันธุ์ปลาได้ตามต้องการ ซึ่งวิธีการและขั้นตอนมีดังนี้

1.นำฮอร์โมนสังเคราะห์ บลูเซริลิน อะซีเตท โดยเกษตรกรสามารถสอบถามได้ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดในเขตพื้นที่ ใช้ร่วมกับยาเสริมฤทธิ์ ดอมเพอริโดน สามารถหาซื้อได้จากร้านขายยาทั่วไป
2.แม่ปลา ใช้อัตราฮอร์โมนสังเคราะห์ 30 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม และยาเสริมฤทธิ์ 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม พ่อปลาฉีดฮอร์โมนสังเคราะห์พร้อมแม่ปลา ในอัตราฮอร์โมนสังเคราะห์ 20 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม และยาเสริมฤทธิ์ 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
3.ฉีดเข้ากล้ามเนื้อบริเวณข้างตัวปลาหรือโคนครีบหูและหมั่นเปลี่ยนเข็มฉีดยาบ่อยๆ เพื่อไม่ให้ปลาบอบช้ำจากการฉีด
4.ปล่อยพ่อแม่พันธุ์ที่ฉีดยาแล้วในถังพลาสติกทรงสูง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางปากถัง 30 เซนติเมตร ใส่น้ำลึก 60 เซนติเมตร ถังละ 1 คู่
5.ใส่เชือกฟางฉีกฝอยผูกเป็นพวง 1 พวง ลอยในถังเพื่อแทนรังไข่
6.ปิดปากถังด้วยตาข่ายพรางแสงสีดำ รัดให้แน่นด้วยยางรัดของ แล้วทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง ปลาจะรัดและผสมพันธุ์กันเองตามธรรมชาติ

ข้อสำคัญบริเวณที่จัดไว้ให้ปลาผสมพันธุ์ต้องเป็นพื้นที่ที่สงบ ไม่มีเสียงรบกวน เมื่อครบ 24 ชั่วโมงจะพบไข่ที่ได้รับการผสมแล้ว ลอยบนผิวน้ำ เตรียมช้อนไข่ตักเบาๆใส่ไปในถังพัก ที่เป็นถังไฟเบอร์กลาสทรงกลม ความจุ 2 ลูกบาศก์เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางปากถัง 2 เมตร น้ำลึก 65 เซนติเมตร และให้น้ำไหลผ่านตลอดเวลา ถังฟัก 1 ใบ ใส่ไข่ปลาประมาณ 1-1.5 แสนฟองต่อถัง และในระหว่างฟักไข่ ควรช้อนไข่เสียทิ้งเป็นระยะๆ เพราะหากทิ้งไว้จะทำให้น้ำเสีย และส่งผลต่อไข่ดีอื่นๆด้วย ข้อสังเกตระหว่างไข่ปลาช่อนที่ดีและเสียนั้น ไข่ดีจะมีสีเหลืองใส ลักษณะกลมเล็กลอยบนผิวน้ำเป็นกลุ่มๆและมีไขมันมาก ส่วนไข่เสียจะทึบเป็นสีขาวขุ่น

การผสมพันธุ์ปลาช่อนด้วยการฉีดฮอร์โมนสังเคราะห์เป็นขั้นตอนที่ผู้เลี้ยงสามารถทำได้เอง แต่ต้องศึกษาข้อมูลให้เข้าใจก่อนที่จะลงมือปฏิบัติ หากทำตามขั้นตอนคำแนะนำ รับรองว่าไม่ยากอย่างที่คิด


#การผสมพันธุ์ปลาช่อน #ฮอร์โมนสังเคราะห์ #ปลาช่อน
#สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร #arda #วิจัยและพัฒนา#สวก.

website ? http://www.arda.or.th
Facebook ?https://www.facebook.com/ardathai
Line ✅https://line.me/R/ti/p/%40yhv6070r
ARDA ? https://www.facebook.com/kasetkaoklaiARDA2017