วันอาทิตย์, 19 มกราคม 2568

การตรวจหาเชื้อไฟโตพลาสมาในอ้อย ด้วยเทคนิคแลมป์เปลี่ยนสี | สวก.

การตรวจหาเชื้อไฟโตพลาสมา สาเหตุโรคใบขาวอ้อย โดยใช้เทคนิคแลมป์เปลี่ยนสีในขั้นตอนเดียว

website ? http://www.arda.or.th
Facebook ?https://www.facebook.com/ardathai
Line ✅https://line.me/R/ti/p/%40yhv6070r
ARDA ? https://www.facebook.com/kasetkaoklaiARDA2017

การพัฒนาชุดตรวจเชื้อไฟโตพลาสมาที่เป็นสาเหตุโรคใบขาวอ้อย โดยใช้เทคนิคแลมป์เปลี่ยนสีในขั้นตอนเดียว มีจุดมุ่งหมายเพื่อตอบโจทย์ความต้องการชุดตรวจโรคอย่างรวดเร็วของเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย นักวิชาการและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแปรรูปอ้อย

โรคใบขาวอ้อย เกิดจากเชื้อไฟโตพลาสมาเป็นโรคที่แพร่ระบาดอย่างรุนแรงในอ้อย โดยมีแมลงกลุ่ม
เพลี้ยจั๊กจั่นเป็นพาหะ การนำท่อนพันธุ์อ้อยที่ติดโรคไปปลูก ทำให้ต้นอ้อยเจริญเติบโตไม่สมบูรณ์และได้ผลผลิตต่ำ เกษตรกรมีรายได้ลดลง และสูญเสียเวลาในการแก้ปัญหาหากมีการแพร่ระบาดในวงกว้าง จะส่งผลให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการแปรรูปอ้อยสูงมาก ดังนั้นการเพิ่มขีดความสามารถในการตรวจวินิจฉัยโรค ให้เป็นไปอย่างรวดเร็วจะช่วยให้การวางแผนและควบคุมโรค เป็นไปได้อย่างทันการณ์และมีประสิทธิภาพ

จากปัญหาดังกล่าวจึงนำไปสู่การศึกษาและพัฒนาต้นแบบชุดตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อไฟโตพลาสมา โดยใช้เทคนิคที่ชื่อว่าแลมป์เทคนิคเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรมที่อุณหภูมิเดียวร่วมกับการประยุกต์ใช้สีย้อม เพื่อการอ่านผลอย่างรวดเร็วด้วยตาเปล่า

โดยขั้นตอนการทดสอบจะเริ่มจากการสกัดสารพันธุกรรมจากใบหรือรากอ้อย โดยใช้ชุดสกัดสำเร็จรูปทั่วไป จากนั้นจึงนำตัวอย่างสารพันธุกรรมที่สกัดได้มาทดสอบกับชุดน้ำยา ซึ่งเป็นสารละลายสีม่วง แล้วอบต่อที่อุณหภูมิ 63 องศาเซลเซียส นาน 1 ชั่วโมง แล้วอ่านผลด้วยตาเปล่า หากน้ำยังเป็นสีม่วงแสดงว่าไม่มีการติดเชื้อไฟโตพลาสมาในตัวอย่าง ให้อ่านผลเป็นลบ แต่หากน้ำยาเปลี่ยนเป็นสีเหลือง แสดงว่าพบเชื้อไฟโตพลาสมาในตัวอย่างให้อ่านผลเป็นบวก

คณะผู้วิจัยเห็นว่าชุดทดสอบต้นแบบที่พัฒนาขึ้น มีศักยภาพในการนำมาประยุกต์ใช้เป็นชุดตรวจคัดกรองโรคขั้นต้นในระดับภาคสนามได้ เนื่องจากใช้เทคนิคแลมป์ที่สามารถเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรมภายใต้อุณหภูมิคงที่ในเวลา 1 ชั่วโมง โดยใช้เพียงเครื่องให้ความร้อนขนาดเล็กที่มีราคาไม่แพง รวมถึงมีประสิทธิภาพในการตรวจวัดที่ไว และจำเพาะต่อเชื้อเป้าหมายสูง ทั้งยังมีขั้นตอนการทดสอบที่ไม่ซับซ้อน จึงทำงานได้ง่ายในภาคสนาม ปลอดภัยต่อผู้ใช้ และสามารถตรวจวินิจฉัยผลได้ด้วยตาเปล่า

จะเห็นได้ว่านวัตกรรมนี้มีศักยภาพในการพัฒนาต่อยอดเป็นชุดตรวจสำเร็จรูปในเชิงพาณิชย์ได้ ทำให้เกิดความคุ้มค่าของต้นทุนการทดสอบและคุณลักษณะของผลิตภัณฑ์ที่ใช้ง่าย รวดเร็ว แม่นยำ ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการใช้งานของกลุ่มเป้าหมาย

หวังว่าชุดทดสอบนี้จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือก ในกระบวนการคัดกรองโรคขั้นต้นได้อย่างรวดเร็วในระดับภาคสนาม ให้กับเกษตรกร นักวิชาการ และผู้ประกอบการที่สนใจให้สามารถจัดการควบคุมและป้องกันการระบาดของโรคได้อย่างสัมฤทธิ์ผล อาจจะช่วยลดความสูญเสียผลผลิตอ้อยและส่งเสริมความสามารถในการผลิตอ้อยของประเทศไทยได้ในระยะยาว

#ไฟโตพลาสมา
#อ้อย
#โรคใบขาว
#วิจัย
#สวก.