วันอาทิตย์, 24 พฤศจิกายน 2567

การเสวนาในหัวข้อ “ความมั่นคงทรัพยากรทางทะเล ประมงยั่งยืน”

รายการ ARDA talk รอบนี้ จะพาทุกท่าน ดำลึกสู่สาระความรู้เกี่ยวกับความมั่นคงทรัพยากรทางทะเลและการทำประมงยั่งยืน อีกหนึ่งประเด็นสำคัญของเศรษฐกิจและการพัฒนางานวิจัยของประเทศ?
ผู้ร่วมเสวนา
. – ดร.จิราวรรณ แย้มประยูร กรรมการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร
. – ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
. – ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง รองอธิบดีกรมประมง
. – รศ.ดร.เชษฐพงษ์ เมฆสัมพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเลมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
อะไรบ้างที่เป็นสาเหตุที่ทำให้ประสบปัญหาทรัพยากรทางทะเลลดลง
สถานภาพของทรัพยากรทางทะเล สะท้อนมาจากการใช้ประโยชน์คือ เกิดจากนโยบายที่มีการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์นั้น รวมถึงสะท้อนมาจากการจัดการประสิทธิภาพของการจัดการของทางภาคราชการ เอกชนและภาคการศึกษา เหล่านี้จะส่งผลต่อสถานภาพของทรัพยากรทางทะเล ในด้านเชิงนโยบายกลยุทธ์ ในปี 2562 สิ่งที่มีอิทธิพลมากมากคือ ตัวยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งจะกำหนดแผนงานหน่วยงานของราชการ รวมไปถึงแผนการใช้ประโยชน์ทรัพยากรสภาพทางเศรษฐกิจ สังคมมีการเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น มีความต้องการในการใช้ประโยชน์จากทะเลมากขึ้น คนมีปริมาณมากขึ้น รวมไปถึงปัจจัยการขับเคลื่อนในระดับนานาชาติที่เป็นแรงหนุนมาจากต่างประเทศ

การใช้ประโยชน์ทางทะเลในปี 2562 มีหลายด้าน เช่น การขนส่งและพาณิชย์นาวี การประมงการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชุมชน และเมืองชายฝั่ง การท่องเที่ยวทางทะเล ภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรมแนวชายฝั่ง และนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งจะเห็นว่าทั้งหมดมีปริมาณเพิ่มขึ้น ประชากรมีความต้องการเพิ่มขึ้น ทำให้เป็นแรงกดดันที่สำคัญ ที่ส่งผลต่อสถานภาพของทรัพยากรทางทะเล

สถานภาพทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการกัดเซาะชายฝั่ง โดยป่าชายเลนมีอัตราการเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ยังไม่อยู่ในสภาวะที่สมบูรณ์มาก ส่วนปะการังมีสภาพดีไม่ถึง 30 % ของปะการังทั้งหมด โดยที่เหลือ 60-70 % ประการังมีสภาพพอใช้ หรือเสื่อมโทรม โดยปัญหาหลักเกิดจากปะการังฟอกขาวในช่วง 3-4 ปีก่อน ถึงแม้วันนี้จะดีขึ้นเล็กน้อย แต่ในภาพรวมยังถือว่ามีสภาพที่สมบูรณ์อยู่ค่อนข้างน้อย ส่วนหญ้าทะเลมีสภาพสมบูรณ์ปานกลาง และมีแนวโน้มที่จะลดลง ส่วนสัตว์ทะเลหายากมีเต่าขึ้นมาวางไข่เพิ่มขึ้น พบเห็นปลาพะยูนในธรรมชาติเพิ่มขึ้น มีวาฬบรูด้าและโลมาเพิ่มขึ้น

ส่วนคุณภาพของน้ำทะเลส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ดี ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญสำหรับทะเล คือ ขยะทะเลโดยเฉพาะอย่างยิ่งขยะพลาสติก ไม่ว่าจะเป็น พลาสติก ขวด พลาสติก ถุง โฟม ยังมีปริมาณเยอะ รวมถึงมีการแตกและแพร่กระจายในลักษณะของไมโครพลาสติกด้วย

รายงานสถานการณ์การกัดเซาะชายฝั่ง เกิดจากทั้งปัจจัยธรรมชาติรวมถึงการที่มนุษย์ไปพัฒนาเปลี่ยนแปลงสร้างสิ่งก่อสร้างต่างๆ ทำให้ความสมดุลของชายฝั่งเปลี่ยนไป โดยชายฝั่งถูกกัดเซาะ 726 กิโลเมตร แก้ไขเรียบร้อย 637 กิโลเมตร หลังจากที่แก้ไขแล้วทำให้ความสมบูรณ์ของชายฝั่งเปลี่ยนไป

สรุปโดยรวมความมั่นคงทรัพยากรทางทะเลยังมีสถานภาพน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมนุษย์ใช้ประโยชน์ทางชายฝั่งมากขึ้น จากนโยบายการส่งเสริมเศรษฐกิจภาคทะเล จึงจำเป็นที่จะต้องมีการจัดการให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ภายในปี 2563 หลังจากเกิดโควิด การใช้ประโยชน์ทางทะเลลดลง ทำให้คุณภาพสิ่งแวดล้อมทางทะเลดีขึ้น โดยน้ำทะเลสะอาดขึ้น มีสัตว์ทะเลหายาก มีการรวมกลุ่มการเป็นกลุ่มใหญ่ขึ้นและเข้ามาชายฝั่งมากขึ้น เนื่องจากปัจจัยรบกวนลดลง ขยะทะเลลดลง ชี้ให้เห็นว่าทะเลสามารถฟื้นฟูตัวเองได้ ถ้าการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ลดลง

การลดลงของทรัพยากรทางทะเลส่งผลต่อปริมาณสัตว์น้ำมากน้อยเพียงไหนและส่งผลกระทบต่อชาวประมงอย่างไรบ้าง
ก่อนปี 58 จับสัตว์น้ำได้ประมาณ 1.2-1.3 ล้านตัน และมีแนวโน้มจะลดลงเรื่อยๆ โดยหลังจากที่มีการปรับเปลี่ยนกฎหมายใหม่เกี่ยวกับการทำการประมง จึงทำให้มีเรือที่ถูกกฎหมายสามารถออกไปทำประมงได้ ทำให้สัตว์น้ำในทะเลมีอัตราการเจริญเติบโตมากขึ้น และหลังปี 2559 มีการทำประมงอย่างถูกต้องตามกฎหมายจนสามารถจับสัตว์น้ำได้เพิ่มขึ้นเป็น 1.5-1.7 ล้านตันต่อปี โดยกำหนดปริมาณเรือให้ทำประมงตามวันที่แตกต่างกันออกไป เพื่อควบคุมปริมาณสัตว์น้ำ

ทรัพยากรทางทะเลที่ลดลงส่งผลต่อการส่งออกรวมไปถึงอาชีพทำการประมงทาง สวก. มีแนวทางในการแก้ปัญหาหรือช่วยเหลือชาวประมงได้อย่างไรบ้าง
สวก. ได้สนับสนุนทุนวิจัยเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรทางทะเลของไทย รวมไปถึงการสร้างองค์ความรู้การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การปรับปรุงพันธุ์ การเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะพันธุ์ การอนุบาล และการเลี้ยงสัตว์น้ำที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ รวมไปถึงสัตว์น้ำที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือที่มีศักยภาพทางการตลาด นอกจากนั้นยังมีการพัฒนาระบบการจัดการฟาร์ม ให้มีประสิทธิภาพลดการสูญเสียจากการเกิดโรค การจัดการหลังการจับ การแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าสัตว์น้ำ และเศษเหลือทิ้งทางการตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวิจัยที่เกี่ยวกับการปรับกฎระเบียบเพื่อการทำการประมงและเพาะเลี้ยงอย่างยั่งยืนเพื่อทำการส่งออกอีกด้วย

งานวิจัยสามารถที่จะช่วยพัฒนาระบบนิเวศทางทะเลไปสู่ความมั่นคงทางทะเลได้อย่างไรบ้าง

งานวิจัยต่างๆเกี่ยวกับความมั่นคงทรัพยากรทางทะเลและประมงอย่างยั่งยืน สามารถสร้างเป็นองค์ความรู้ เพื่อแก้ไขปัญหาได้ รวมไปถึงการจัดการเรือประมงต่างๆ เพื่อกำหนดเป็นกฎเกณฑ์ เพื่อจะทำให้เกิดความมั่นคงทางทรัพยากรทางทะเล รวมไปถึงสร้างองค์ความรู้ต่างๆให้ชาวประมงได้เข้าใจถึงความมั่นคงของทรัพยากรทางทะเลมากขึ้น


#ทรัพยากรทางทะเล #ประมง ​​ #ปลา #covid19​​​ #โควิด19​​​ #อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ​​​ #สวกงานวิจัยใช้ได้จริง​​​ #สวกติดปีกเกษตรไทย​​​ #สวกติดปีกเกษตรไทยงานวิจัยใช้ได้จริง​​​ #ARDA

website ? http://www.arda.or.th
Facebook ?https://www.facebook.com/ardathai
Line ✅https://line.me/R/ti/p/%40yhv6070r
ARDA ? https://www.facebook.com/kasetkaoklaiARDA2017