วันพุธ, 4 ธันวาคม 2567

ผลิตผักปลอดภัยโดยการใช้ไส้เดือนฝอยกำจัดแมลงศัตรูพืช | สวก.

ผลิตผักปลอดภัยโดยใช้ไส้เดือนฝอยควบคุมแมลงศัตรูพืช

website ? http://www.arda.or.th
Facebook ?https://www.facebook.com/ardathai
Line ✅https://line.me/R/ti/p/%40yhv6070r
ARDA ? https://www.facebook.com/kasetkaoklaiARDA2017

สารเคมีที่ใช้ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชมีบทบาทสำคัญในการผลิตพืชของประเทศไทย เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่มุ่งเน้นในการเพิ่มผลผลิตและป้องกันผลผลิตจากการเข้าทำลายของแมลงโดยสารเคมี ซึ่งมีความสะดวกในการใช้และเห็นผลรวดเร็ว สาเหตุที่ตรวจพบสารพิษตกค้างในพืชผักเนื่องมาจากเกษตรกรพ่นสารเคมีกำจัดหนอนและเพลี้ยอ่อนก่อนการเก็บเกี่ยว หากเกษตรกรมีการใช้ไส้เดือนฝอยกำจัดแมลงศัตรูพืช จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการลดการใช้สารเคมีซึ่งเป็นการผลิตผักปลอดสารพิษ เช่น การปลูกกะหล่ำปลีในพื้นที่สูง

ต้นแบบวิธีการลดการใช้สารเคมีกำจัดแมลงศัตรูพืชในพื้นที่แปลงใหญ่ โดยการใช้ไส้เดือนฝอยกำจัดแมลงศัตรูกะหล่ำปลี พบว่าการผลิตและใช้ไส้เดือนฝอยควบคุมแมลงศัตรูกะหล่ำปลีในพื้นที่แปลงใหญ่ 101 ไร่ บนพื้นที่สูงจังหวัดตาก สามารถใช้ไส้เดือนฝอยทดแทนการใช้สารกำจัดแมลงได้ 67.3% จากจำนวนครั้ง ของการใช้สารกำจัดแมลงทั้งหมด มีการใช้ bt 12.7% และสารเคมีกำจัดแมลง 20% โดยไส้เดือนฝอยมีราคาถูกกว่า BT ถึง 5 เท่าและถูกกว่าสารเคมีกำจัดแมลงถึง 3.7 เท่า ยกตัวอย่างเช่น ไส้เดือนฝอยมีต้นทุน 90 บาทต่อไร่ต่อครั้ง จะถูกกว่าBT ที่มีต้นทุน 450 บาทต่อไร่ต่อครั้ง และสารเคมีกำจัดแมลงที่มีต้นทุน 333 บาทต่อไร่ต่อครั้ง ซึ่งพบว่าเกษตรกรยอมรับและมีความสนใจที่จะใช้ไส้เดือนฝอยกำจัดแมลง ผลที่ได้ปรากฏว่าตรวจไม่พบสารพิษตกค้างในตัวอย่างผักที่พ่นด้วยไส้เดือนฝอยก่อนการเก็บเกี่ยว ไม่พบการปนเปื้อนของสารเคมีในลำธารที่ไหลผ่านพื้นที่ปลูกกะหล่ำปลี แต่พบการปนเปื้อนของสารอิมิโดคาพริด 0.2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในตัวอย่างดินจากแปลงที่ใช้เฉพาะสารเคมีกำจัดแมลง

วัสดุสำหรับเพาะเลี้ยงไส้เดือนฝอยกำจัดแมลงศัตรูคือมีวัสดุต่างๆ ประกอบด้วย
– หัวเชื้อไส้เดือนฝอย
– ไข่ไก่ไข่เป็ด 4 ฟอง
– น้ำมันหมู 130 ML
– ถุงขนาด 24 * 36 นิ้วจำนวน 1 ใบ
– ถุงขนาด 6 * 9 นิ้ว จำนวน 20 ใบ
– และฟองน้ำจำนวน 4 แผ่น

ซึ่ง 1 ชุดสามารถทำชีวภัณฑ์ไส้เดือนฝอยได้ถึง 20 ถุงเพาะ เพื่อใช้ฉีดพ่นศัตรูกะหล่ำปลี 1 ไร่ต่อครั้ง สามารถสั่งซื้อหัวเชื้อไส้เดือนฝอยได้แก่สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพกรมวิชาการเกษตร

วิธีการใช้ไส้เดือนฝอยกำจัดแมลงศัตรูพืช
– พ่นไส้เดือนฝอยในช่วงเช้าหรือเย็น เพื่อหลีกเลี่ยงแสงแดดที่ทำให้ไส้เดือนฝอยกำจัดแมลงตายหรือด้อยประสิทธิภาพลง
– ใช้ทางพ่นสารแบบสะพายหลังโดยพ่นให้ถูกตัวหนอนมากที่สุดช่วยให้ไส้เดือนฝอยเข้าสู่ตัวแมลงได้มากขึ้น
– กวนหรือเขย่าถังบ่อยครั้งหรือทุก 10 นาที เพื่อป้องกันการตกตะกอนอยู่ก้นถังของไส้เดือนฝอย
– ครั้งแรกใช้ไส้เดือนฝอยพ่นลงดินก่อน หรือพร้อมปลูกกะหล่ำปลีเพื่อกำจัดตัวอ่อนของด้วงหมัดผัก
– จะต้องตรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอเมื่อพบแมลงศัตรูที่สำคัญคือ หนอนใยผักหนอนกระทู้ผัก หนอนกระทู้หอม หนอนคืบและด้วงหมัดผัก จำนวน 1 ตัวต่อ 2 ต้น ให้ใช้ไส้เดือนฝอยพ่นกำจัดในทันที
– อัตราการใช้และจำนวนครั้งของการพ่นสัมพันธ์กับการระบาดของแมลงในแปลงปลูก หากพบการระบาดมาให้พ่นทุก 5-7 วัน ถ้าระบาดน้อยให้พ่นทุก 10 วัน 3-5 ครั้งใน 1 รอบการผลิต

ในกรณีที่ไม่สามารถผลิตไส้เดือนฝอยได้เพียงพอในบางช่วง จะให้ใช้ไส้เดือนฝอยกับกะหล่ำปลีที่ใกล้จะเก็บเกี่ยวก่อน ดังนั้นหากเกษตรกรหันมาเลือกใช้ไส้เดือนฝอยทดแทนการใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืช จะช่วยลดต้นทุน มีสุขภาพดีขึ้น และได้ผลผลิตที่ปลอดภัยไร้สารเคมี

#ไส้เดือน
#ผักปลอดสาร
#ไส้เดือนฝอย
#วิจัย
#สวก