วันอาทิตย์, 19 มกราคม 2568

ผลิตภัณฑ์ชาสมุนไพรจากภูมิปัญญาท้องถิ่น | สวก.

ผลิตภัณฑ์ชาสมุนไพรจากภูมิปัญญาท้องถิ่น | สวก.

website ? http://www.arda.or.th
Facebook ?https://www.facebook.com/ardathai
Line ✅https://line.me/R/ti/p/%40yhv6070r
ARDA ? https://www.facebook.com/kasetkaoklaiARDA2017

ความสำคัญและที่มาของงานวิจัย
ปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนในจังหวัดอุบลราชธานี ได้มีการนำสมุนไพรในพื้นที่มาผลิตและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชาสมุนไพร แต่ยังไม่ได้รับการยอมรับและเชื่อมั่นในกลุ่มผู้บริโภค ทั้งนี้เนื่องจากในขั้นตอนการผลิตยังไม่สามารถควบคุมคุณภาพให้สม่ำเสมอได้ ในขั้นตอนการล้างสมุนไพรจะล้างสมุนไพรด้วยน้ำประปาหรือน้ำบาดาลซึ่งไม่เพียงพอต่อการลดปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ในสมุนไพรได้ อีกทั้งยังมีขั้นตอนการทำแห้งสมุนไพรจะใช้วิธีการตากแดด หรือการตากแดดร่วมกับการผัดในกระทะ โดยวิธีการดังกล่าวอาจไม่เพียงพอต่อการกำจัดความชื้น เมื่อเก็บผลิตภัณฑ์ไว้ในระยะเวลาที่ยาวนาน อาจมีเชื้อจุลินทรีย์เจริญในผลิตภัณฑ์ ทำให้คุณภาพของผลิตภัณฑ์ลดลง อีกทั้งสถานที่ผลิตชาสมุนไพรของวิสาหกิจชุมชน ยังไม่ได้รับการรับรองมาตรฐาน อ.ย. หรือ GMP ทำให้ความเชื่อมั่นในด้านคุณภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์จากผู้บริโภคลดลง

เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่ใช้ในงานวิจัย

ในงานวิจัยนี้จะใช้วัตถุดิบเป็นสมุนไพรในพื้นที่จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ โดยสมุนไพรที่นำมาศึกษาได้แก่ หญ้าหวาน ใบเตย ใบบัวบก และใบหม่อน จากนั้นนำสมุนไพรมาล้างด้วยกันฆ่าเชื้อโรค ที่ระดับความเข้มข้นที่เหมาะสมต่อการลดปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ทั้งหมด จะทำให้วัตถุดิบสะอาดและมีความปลอดภัยยิ่งขึ้นก่อนนำมาแปรรูป

การทำแห้งสมุนไพรจะใช้ตู้อบลมร้อน ควบคุมอุณหภูมิและเวลาที่เหมาะสมต่อการลดปริมาณร้อยละความชื้น และปริมาณน้ำอิสระ ซึ่งจะสามารถป้องกันการเจริญของเชื้อจุลินทรีย์ในสมุนไพรได้ อีกทั้งสภาวะการทำแห้งที่เหมาะสมนี้ ยังทำให้พบปริมาณสาร ฟีนอลิก ฟลาโวนอยด์ สารพฤกษเคมี ต้านอนุมูลอิสระ และยับยั้งเอนไซม์แอลฟากลูโคซิเดส แอลฟาอะไมเลสในสมุนไพรมีค่าสูงอีกด้วย

การพัฒนาตำรับชาสมุนไพร โดยผสมผงสมุนไพร ใบเตยหอม ใบบัวบก หญ้าหวาน ใบหม่อน ในอัตราส่วนที่เหมาะสม จะได้ต้นแบบชาสมุนไพร 5 ตำหรับ ซึ่งมีคุณภาพหรือมาตรฐานชาสมุนไพรเป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข มีค่าคะแนนการยอมรับในด้านความใส สีกลิ่น รส และการยอมรับโดยรวมอยู่ใน 4 ระดับแรกของชาสมุนไพรที่นำมาทดสอบ

นอกจากนี้ชาสมุนไพร 5 ตำรับนี้ จะมีปริมาณสารสำคัญและฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงอีกด้วย

ตำรับที่มีส่วนผสมของผงใบหม่อนในปริมาณสูง จะแสดงฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์แอลฟากลูโคซิเดสและอัลฟาอะไมเลสได้สูง โดยตำรับชาสมุนไพรที่มีส่วนผสมของผงใบหม่อน และผงหญ้าหวานในอัตราส่วนผสม 95 เปอร์เซ็นต์ จะแสดงฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์แอลฟากลูโคซิเดสได้ใกล้เคียงกับสารอคาโบทที่ระดับความเข้มข้น 100 ไมโครโมลาร์

ประโยชน์ที่ได้รับจากการวิจัยต่อกลุ่มเป้าหมาย

– ได้กระบวนการผลิตชาสมุนไพร ที่สามารถควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ได้ และสามารถผลิตได้จริง ตั้งแต่การล้างสมุนไพรด้วยสารฆ่าเชื้อโรค การทำแห้งสมุนไพร การผสมผงสมุนไพร และการบรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม
– ได้ชาสมุนไพรต้นแบบที่ได้รับเลขสารบบอาหาร 5 ตำรับ ตำรับที่ 1 ชาสมุนไพรใบหม่อนผสมใบเตย ตำรับที่ 2 ชาสมุนไพรหญ้าหวานผสมใบเตย ตำรับที่ 3 ใช้สมุนไพรใบบัวบกผสมใบเตย ตำหรับที่ 4 ชาสมุนไพรใบหม่อนผสมหญ้าหวานและใบเตย และตำหรับที่ 5 สมุนไพรใบหม่อนหญ้าหวานใบบัวบกผสมใบเตย
– ได้ต้นแบบสถานที่ผลิตชาสมุนไพรที่ผ่านเกณฑ์การตรวจสถานที่ผลิตอาหาร GMP สุขลักษณะทั่วไปซึ่งผู้ประกอบการสามารถศึกษาดูงานต้นแบบสถานที่ผลิต และกระบวนการผลิตชาสมุนไพร เพื่อเรียนรู้และรับทราบแนวทางการเตรียมความพร้อมของสถานที่ผลิต และกระบวนการผลิตชาสมุนไพร ให้สามารถขอรับเลขสถานที่ผลิตอาหาร สามารถขอรับเลขสารบบอาหารของผลิตภัณฑ์ชาสมุนไพร เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อถือและเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์ที่ผลิต

#ชา
#ชาสมุนไพร
#GMP
#วิจัย
#สวก.

ผลิตภัณฑ์ชาสมุนไพรจากภูมิปัญญาท้องถิ่น