วันพฤหัสบดี, 2 พฤษภาคม 2567

มาตรฐานผงบุก เพื่อใช้ในการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์อาหาร | สวก.

ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพจากบุก โดยการจัดทํามาตรฐานผงบุก เพื่อใช้ในการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์อาหารและสมุนไพร

การจัดทํามาตรฐานผงบุก และการนำไปใช้ในการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์อาหารและสมุนไพร
Standardization of Konjac Powder for Using to Add Value of Food and Herb Products

ปัจจุบันยังไม่มีการจัดทําแนวทางการใช้ของผงบุก (Konjac specification) ที่เชื่อมโยงกับสมบัติที่สําคัญต่อการนําไปใช้ในด้านต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม การแบ่งเกรดผงบุกจะอ้างอิงจากมาตรฐานของสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นหลัก ซึ่งในมาตรฐานไม่มีข้อแนะนําเกี่ยวกับความเหมาะสมผงบุกไปใช้
ในการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารที่แตกต่างกัน ทั้งยังไม่มีการวิจัยที่ชัดเจนเกี่ยวกับผลของเกรด ความบริสุทธิ์ และขนาดอนุภาคของผงบุก ไปใช้สําหรับอุตสาหกรรมอาหารในประเทศ

โครงการวิจัยนี้ จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทําแนวทางการใช้ของผงบุก โดยศึกษาผลของขนาดอนุภาคของผงบุก ความหนืด และเปอร์เซ็นต์กลูโคแมนแนนของผงบุกเกรดต่างๆ ต่อสมบัติการนําไปใช้ในด้านการละลาย เวลาที่สารละลายบุกได้ความหนืดสูงสุด ความหนืดของสารละลายบุก และความแข็งแรงของเจล เมื่อนําไปใช้ในรูปแบบของเจล หรือแนวทางการนําไปใช้ในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์จากบุกที่เหมาะสม โดยผลที่ได้จากการวิจัยนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อบริษัทที่ผลิตผงบุก และอุตสาหกรรมอาหารในแง่ของการได้ข้อมูล ซึ่งเป็นสมบัติที่สําคัญต่อการนําผงบุกไปใช้ และเป็นแนวทางในการนําไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารต่างๆ ได้อย่างเหมาะสมต่อไป

การพัฒนาเทคโนโลยี

การพัฒนาข้อมูลสมบัติทางเคมีและกายภาพของผงบุก กลูโคแมนแนนกลุ่มต่างๆ และนําไปใช้ในผลิตภัณฑ์อาหารโดยมีการพัฒนา ดังนี้
(1) เทคโนโลยีการผลิตเส้นบะหมี่บุกอบแห้งกึ่งสําเร็จรูป
(2) เทคโนโลยีการผลิตเจลลี่จากบุก
(3) เทคโนโลยีการผลิตฟิล์มเคลือบบริโภคได้สําหรับยาสมุนไพรลูกกลอน

ประโยชน์ที่ได้รับจากงานวิจัย
ได้แนวทางหรือข้อเสนอแนะในการจัดทํามาตรฐานและการใช้ผงบุกไทย ในอุตสาหกรรมอาหาร การถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่กลุ่มเป้าหมายเพื่อเพิ่มศักยภาพแป้งบุก ในการนําไปใช้งานในอุตสาหกรรมอาหารและการผลิตยาสมุนไพร เพื่อขยายโอกาสให้กับผู้ประกอบการหรือผู้ผลิตอาหารสุขภาพจากแป้งบุก ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งได้จัดทําคู่มือการใช้ผงบุกในอุตสาหกรรมอาหารเพื่อพัฒนาให้เป็นประโยชน์ กับผู้ประกอบการไทยต่อไป

– ได้คู่มือและแนวทางการใช้ ผงบุกเกรดต่างๆ ให้เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์อาหาร
– เทคโนโลยีต้นแบบในการผลิตผลิตภัณฑ์จาก ผงบุกในรูปแบบผลิตภัณฑ์เส้นบุกกึ่งสําเร็จรูป ผลิตภัณฑ์เจลลี่ ซินไบโอติกเพื่อสุขภาพ และฟิล์มบริโภคได้ ใช้ในการถนอมอาหารและสมุนไพร
– ผู้ประกอบการสามารถนําองค์ความรู้ไปใช้ได้ในระดับ SME จนถึงระดับอุตสาหกรรมได้
– เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับ ผู้ประกอบการไทยโดยมีมาตรฐานและคู่มืออ้างอิงที่ชัดเจนของบุกไทย ไม่ต้องอ้างอิงของต่างประเทศ

หัวหน้าโครงการ ผศ.ดร.ชาลีดา บรมพิชัยชาติกุล ภาควิชาเทคโนโลยีทางอาหาร คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

#ผงบุก #มาตรฐานผงบุก #สมุนไพร #งานวิจัย #สวก.


website ? http://www.arda.or.th
Facebook ?https://www.facebook.com/ardathai
Line ✅https://line.me/R/ti/p/%40yhv6070r
ARDA ? https://www.facebook.com/kasetkaoklaiARDA2017