วันอาทิตย์, 19 มกราคม 2568

วิธีการย่อยสลายฟางข้าวและตอซังข้าว | สวก.

การที่ฟางข้าวจะย่อยสลายได้ดีคือในสภาพที่มีอากาศระบายได้ดี ถ้าไม่ทำการย่อยฟางข้าวและตอซังมักก็จะมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องการเกิดการหมักหมมในนา จะทำให้ข้าวเกิดเป็นโรคเมาตอซัง ต้นข้าวไม่แข็งแรง แล้วก็จะเกิดเป็นโรคต่างๆได้

สิ่งที่เกิดขึ้นประจำฤดูกาลเก็บเกี่ยวของชาวนาคือการเผาฟางข้าวและตอซัง เพื่อให้ง่ายในการเตรียมดินปลูกข้าวในรอบถัดไป ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นหมอกควันที่ส่งผลต่อการเกิดภาวะโลกร้อน จะทำให้ดินเสื่อมสภาพ สูญเสียปุ๋ยในดิน แต่ปัจจุบันมีวิธีการย่อยสลายฟางข้าวและตอซังหลังการเก็บเกี่ยว โดยที่ไม่สร้างมลพิษทางอากาศและใช้ระยะเวลาในการย่อยสลายเพียง 7-15 วันเท่านั้น

การย่อยสลายฟางข้าวและตอซัง สามารถทำได้ 2 วิธี เกษตรกรสามารถปรับใช้ได้ตามความสะดวก
1. วิธีการแรกเป็นการเตรียมแปลงนาโดยปล่อยให้ย่อยสลายเองตามธรรมชาติซึ่งมีวิธีการคือ หลังจากที่เก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวแล้ว กระจายฟางให้ทั่วแปลงนาสูบน้ำเข้านาสูงประมาณ 1-3 เซนติเมตร ปล่อยแช่ไว้ 1 คืน จากนั้นใช้รถแทรกเตอร์จอบหมุนปั่นดินและปล่อยแปลงนาทิ้งไว้ประมาณ 7-15 วัน ในสภาพดินมีความชื้น แต่ไม่ต้องให้น้ำท่วมขัง เพื่อให้ฟางย่อยสลายก็สามารถเตรียมดินตามขั้นตอนปกติได้ต่อไป

2. วิธีการที่ 2 การย่อยสลายฟางข้าวด้วยปุ๋ยอินทรีย์น้ำ พด.2 วิธีนี้จะมีจุลินทรีย์มาช่วยในการย่อยสลายได้เร็วขึ้น วิธีการคือหลังจากที่เก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวแล้ว กระจายฟางข้าวให้ทั่วแปลงนา จากนั้นใช้รถขลุบย่ำในแปลงนา เพื่อให้ตอซังข้าวล้มลงราบกับแปลงนา สูบน้ำเข้าแปลงนาพร้อมกับใส่น้ำหมักชีวภาพ พด.2 อัตรา 5 ลิตรต่อไร่ ขังน้ำในนาข้าวในระดับที่ท่วมฟางข้าว 3-5 เซนติเมตร ประมาณ 7 -15 วัน ก็เตรียมดินได้ตามขั้นตอนปกติ

การย่อยสลายฟางข้าวใช้เวลาไม่นาน ใช้เวลาประมาณ 7-15 วัน เป็นการลดการเผาฟาง ยังทำให้ไม่เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม และยังช่วยเพิ่มปริมาณอินทรีย์วัตถุให้กับนาข้าว

#ตอซังข้าว #ฟางข้าว #ชาวนา #ข้าว #วิจัย #สวก.

website ? http://www.arda.or.th
Facebook ?https://www.facebook.com/ardathai
Line ✅https://line.me/R/ti/p/%40yhv6070r
ARDA ? https://www.facebook.com/kasetkaoklaiARDA2017